การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)

“การวิจัย” หมายถึง กระบวนการแสวงหาความรู้เพื่อตอบคำถาม หรือ ปัญหาที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน โดยมีการกำหนดคำถามวิจัย ที่ได้มาจากการศึกษาเอกสาร และ ประสบการณ์ตรง ที่มีการวางแผนการวิจัย หรือ เขียนโครงการวิจัย รวมถึง สร้างเครื่องมือ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการวิจัย รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และเขียนรายงานการวิจัย

การวิจัยเชิงสำรวจ

การวิจัยเชิงสำรวจเป็นการวิจัยที่เน้นการศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆเพื่อศึกษาผลที่ตามมาแต่เป็นการค้นหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนักวิจัยไม่สามารถกำหนดค่าของตัวแปรต้นได้ตามใจชอบ เช่น ผู้วิจัย ต้องการสำรวจความคิดเห็นของเห็นของนักเรียนนักศึกษาต่อการให้บริการทางด้านการเรียนการสอนของวิทยาลัย  และต้องการศึกษาความคิดเห็นของ เพศชายและเพศหญิง ว่าแตกต่างกันหรือไม่ ในที่นี้ตัวแปรต้นคือเพศ และค่าของตัวแปรต้นคือชายและหญิงจะเห็นได้ว่าค่าของตัวแปรต้นเป็นสิ่งที่เป็นอยู่แล้วนักวิจัยจะไม่สามารถกำหนดได้เองว่าต้องการให้ค่าของตัวแปรเพศ เป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง

ขั้นตอนการวิจัยเชิงสำรวจ

             การวิจัยเชิงสำรวจ  หรือ  การวิจัยโดยการสำรวจ  เป็นวิธีการวิจัยที่ใช้กันมากที่สุด  ในประเทศไทย อาศัยการสำรวจในการรวบรวมข้อมูลโดยทำการสุ่มตัวอย่างจากประชากรเป้าหมายที่ต้องการศึกษาแล้วนำผลที่ ได้จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างนี้อ้างอิงหรือประมาณค่าไปยังประชากรทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง  ดังนั้น  ในการวิจัยเชิงสำรวจจึงมีรายละเอียดย่อยในขั้นตอนของการวิจัยที่แตกต่างจากการวิจัยในแบบอื่นๆ 

              Denzin ได้เสนอขั้นตอนของการวิจัยเชิงสำรวจไว้ 9 ขั้นตอน คือ 

  1. การกำหนดรูปแบบของปัญหาที่จะศึกษาเป็นการกำหนดปัญหาที่จะศึกษา  ศึกษาจากใครลักษณะการศึกษาเป็นแบบพรรณนาหรือเป็นการอธิบายและทำนายรวมไปถึงสมมติฐานที่ต้องการจะทดสอบด้วย  เป็นการกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของปัญหา
  2. กำหนดปัญหาเฉพาะการวิจัย  แปลความหมายของแนวคิดในปัญหาที่จะศึกษาให้เป็นตัวแปรที่สามารถวัดได้และระบุถึงกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้เป็นหน่วยในการศึกษา
  3. การเลือกรูปแบบของการสำรวจ เลือกให้ตรงกับจุดมุ่งหมายของการวิจัย
  4. สร้างเครื่องมือในการวิจัย
  5. กำหนดรูปแบบในการวิเคราะห์ข้อมูล  เลือกตัวแปรอิสระ ตัวแปรตาม และตัวแปรควบคุมขึ้นมาพร้อมทั้งระบุมาตราหรือดัชนีของแต่ละตัวแปรไว้ให้พร้อม 
  6. กำหนดการเข้าตารางข้อมูล  การจัดเตรียมรูปแบบการวิเคราะห์ในตอนนี้เป็นการเตรียมลงรหัสให้กับประเด็นปัญหาและข้อคำถามในแบบสอบถามเพื่อให้ง่ายต่อการแปลงข้อมูลไปสู่การวิเคราะห์ซึ่งอาจจะใช้บัตรคอมพิวเตอร์หรือใช้รูปแบบการวิเคราะห์ตาราง
  7. การเตรียมการสำหรับผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์  ก่อนที่นักวิจัยจะลงไปปฏิบัติงานในสนาม ผู้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นนักวิจัยผู้ช่วยจะต้องได้รับการฝึกอบรมและแนะนำถึงที่ตั้งของพื้นที่การวิจัยและมีการกำหนดผู้ถูกสัมภาษณ์ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างจากประชากรทำให้เห็นถึงถิ่นที่อยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งอาจจะใช้แผนที่เป็นเครื่องช่วยอำนวยความสะดวก
  8. การวิเคราะห์ผลของข้อมูลที่ออกมาในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล  นักวิจัยต้องมุ่งค้นหาคำตอบประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นคือ
    • กลุ่มตัวอย่างที่ได้ศึกษามีลักษณะรายละเอียดต่างๆ เหมือนกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้คาดหวังไว้หรือไม่ถ้านักวิจัยได้ใช้ตัวแบบการสุ่มตัวอย่างทางสถิติจะต้องมีการประเมินว่ากลุ่ม     ตัวอย่างที่ได้มา มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนโดยเปรียบเทียบกับแบบแผนตอนต้นที่วางไว้กับลักษณะของประชากรส่วนใหญ่
    • อัตราการปฏิเสธ  (Refusals  rate)  ที่จะตอบคำถามที่เกิดขึ้นจะต้องนำมาคิดคำนวณด้วยเพราะถือเป็นประเด็นสำคัญของการวิจัยซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่าเกิดจากความผิดพลาดของกลุ่มตัวอย่าง (sample bias) หรือไม่
  9. การทดสอบสมมติฐาน    นักวิจัยจะต้องสร้างรูปแบบการวิเคราะห์หลายตัวแปรขึ้นมาเพื่อดูลักษณะความแปรผันร่วมระหว่างตัวแปร  จัดลำดับก่อนหลัง  ความสัมพันธ์ของตัวแปรและเมื่อได้ข้อสรุปกระบวนการวิเคราะห์  นักวิจัยจะต้องกลับไปพิจารณาดูว่าข้อมูลที่ได้เพียงพอต่อการที่จะทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้และผลที่ ได้ออกมาสนับสนุนหรือขัดแย้งกับสมมติฐานอย่างไรบ้าง