การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มีเทคนิคแตกต่างกัน ซึ่งมี 2 วิธี คือ
- การรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Data)
ในการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร เป็นการรวบรวมข้อมูลที่มีความสำคัญเป็นขั้นตอนแรกของการวิจัย โดยเฉพาะการใช้เอกสารเพื่อวิเคราะห์ปัญหาการวิจัย ซึ่งทำให้ได้รับประโยชน์อย่างน้อย 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก ผู้วิจัยจะมองเห็นภาพของปัญหาที่จะวิจัยได้ชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่ได้อ่านเอกสารที่มีประเด็นสัมพันธ์กับปัญหาที่จะวิจัยอย่างละเอียด ขั้นตอนที่สอง ผู้วิจัยจะได้รู้ถึงปัญหาที่จะวิจัยนั้น ว่ามีใครทำไว้ก่อนแล้วหรือยัง หรือมีใครวิจัยประเด็นบางส่วนของปัญหาที่จะวิจัยไว้บ้างแล้วหรือไม่และขั้นตอนสุดท้ายผู้วิจัยจะได้มีความเข้าใจที่จะเลือกใช้วิธีวิจัยที่เหมาะสมและตั้งแนววิเคราะห์ที่ถูกต้อง
- การรวบรวมข้อมูลจากสนาม (Field Data)
ส่วนการรวบรวมข้อมูลสนาม ในการวิจัยถือว่าข้อมูลสนาม (Field Data) เป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามากและเป็นข้อมูลปฐมภูมิ เพราะผู้วิจัยจะต้องใช้วิธีการรวบรวมจากแหล่งต้นตอของข้อมูล และอาจจะมีโอกาสได้ถามข้อเท็จจริงจากผู้ให้ข้อมูลโดยตรงอีกด้วย การรวบรวมข้อมูลสนามที่สำคัญ และใช้กันทั่วไปมี 3 วิธี คือ การสังเกต (Observation) การส่งแบบสอบถาม (Questionnaire) และการสัมภาษณ์ (Interview)
ในการวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีความสัมพันธ์กับข้อมูลสนาม (field data) มากที่สุด มีวิธีการเก็บข้อมูลที่นิยมใช้กันอยู่ 4 วิธี คือ
- ใช้แบบสอบถาม ที่ผู้สัมภาษณ์ดำเนินการสอบถามเอง
- การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
- การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์
- แบบสอบถามที่ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ตอบเอง
จากวิธีการทั้ง 4 เมื่อจำแนกตามลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้เก็บข้อมูลและผู้ให้ข้อมูลสามารถแยกออกได้เป็น 2 วิธีหลักๆ คือ
- สัมภาษณ์จากบุคคลโดยตรง ผู้วิจัยหรือพนักงานสัมภาษณ์อ่านปัญหาจากแบบสอบถามที่ได้จัดเตรียมไว้แล้ว ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ฟังบางครั้งอาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แต่ก็มีข้อจำกัดมากคือไม่สามารถสอบถามข้อมูลได้มากโดยทั่วไป ไม่ควรเกิน 20 นาที
- ส่งแบบสอบถามไปให้ผู้ถูกวิจัยตอบ ถือว่าป็นการประหยัดมากแต่มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถใช้กับกลุ่มบุคคล ที่มีการศึกษาต่ำหรือไม่มีการศึกษา ถึงแม้ว่าสามารถจะอ่านแบบสอบถามได้ ก็อาจจะทำให้มีการตีความผิดพลาดได้
วิธีแรกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีที่สองแต่จะมีข้อยุ่งยากในการตอบปัญหาน้อยกว่า เพราะผู้สัมภาษณ์สามารถสอบถาม และให้คำอธิบายปัญหาแก่ผู้ถูกวิจัย ในกรณีที่ไม่เข้าใจคำถามได้
จากวิธีการเก็บข้อมูลทั้ง 4 วิธี วิธีที่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการวิจัยเชิงสำรวจ คือวิธีการใช้แบบสอบถาม ที่ผู้สัมภาษณ์ดำเนินการสอบถามเอง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า รูปแบบการสัมภาษณ์ หรือแบบสำรวจแต่โดยทั่วๆไปนิยมเรียกว่า แบบสอบถามซึ่งแบบสอบถามมีหลักเกณฑ์เป็นไปในทำนองเดียวกันกับแบบสำรวจหรือแบบสัมภาษณ์ แต่จะแตกต่างกันเฉพาะวิธีการใช้ ก็คือแบบสอบถามนั้นปกติ หมายถึง แบบสอบถามที่ส่งไป หรือนำไปมอบให้ผู้ตอบกรอกข้อความลงเอง ส่วนแบบสำรวจ คือแบบสอบถามที่ใช้ประกอบในการสัมภาษณ์ โดยผู้สัมภาษณ์จะเป็นผู้กรอกข้อมูลแทนผู้ถูกสัมภาษณ์