แบบสอบถาม

แบบสอบถาม หมายถึง คำถามหรือชุดคำถามที่ได้คิดขึ้นสำหรับเตรียมไว้เพื่อสอบถามผู้ที่ทราบข้อมูลตามที่เราต้องการทราบ ซึ่งแบบสอบถามนั้นเราจะเป็นผู้ถามเองหรือให้คนอื่นเป็นผู้ถามหรือส่งแบบสอบถามให้กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มคำถามที่กำหนดให้ แล้วนำคำตอบที่ได้มาวิเคราะห์ และแปลความหมาย

              แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลนิยมใช้ในการวิจัยภาคสนาม เช่น การสำรวจหรือสำมะโนและการวิจัยอย่างอื่นๆ ที่ผู้วิจัยจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมที่จะทำการวิจัย แบบสอบถามนับว่าเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญ ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพราะต้องใช้บันทึกข่าวสารความรู้และของประชากรโดยตรง

ข้อดีของแบบสอบถาม

1. ค่าลงทุนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการสัมภาษณ์ เพราะแบบสอบถามมีการลงทุนด้วยค่าพิมพ์เอกสาร และส่งไปยังผู้รับ ส่วนการสัมภาษณ์ต้องมีการเดินทางออกไปสัมภาษณ์ทีละคน ซึ่งเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายมากกว่า

2. การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ ซึ่งเอกสารจะไปถึงผู้รับแน่นอนกว่าการออกไปสัมภาษณ์ ซึ่งผู้ตอบอาจไม่อยู่บ้าน ไม่ว่าง หรือไม่สะดวกพบผู้สัมภาษณ์

3. การส่งแบบสอบถามไปให้คนจำนวนมาก จะมีความสะดวกกว่าการสัมภาษณ์ ซึ่งจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

4. แบบสอบถามจะสามารถไปถึงมือผู้รับได้ทุกพื้นที่ หากในที่แห่งนั้นมีที่ทำการไปรษณีย์

5.  ในส่วนของแบบสอบถามที่ดี ผู้ตอบจะต้องสามารถตอบได้อย่างสะดวกใจมากกว่าการสัมภาษณ์

6. หากแบบสอบถามมีความสมบูรณ์ครบถ้วน การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามทำได้ง่ายกว่าการสัมภาษณ์

7. ในการทำแบบสอบถาม เราสามารถควบคุมให้แบบสอบถามถึงมือผู้รับได้ในเวลาใกล้กัน ซึ่งจะทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถตอบแบบสอบถามได้ทันที เป็นการควบคุมการตอบได้อย่างหนึ่ง

8. ผู้ตอบแบบสอบถามต้องตอบข้อความที่เหมือนกัน และรูปแบบฟอร์มเดียวกัน ซึ่งเป็นการควบคุมเงื่อนไขที่คล้ายกัน จึงทำให้สรุปผลได้ดีกว่าการสัมภาษณ์

ข้อเสียของแบบสอบถาม

1. แบบสอบถามที่ได้รับกลับคืนจะมีจำนวนน้อย

2. ความเที่ยง (reliability) และความตรง (validity) ของแบบสอบถามได้รับการตรวจสอบลำบากจึงไม่นิยมหา

3. โดยปกติแบบสอบถามมีเนื้อหาที่สั้น และกระชับ ดังนั้นในแบบสอบถามจึงมีข้อคำถามได้จำนวนจำกัด

4. ผู้ตอบบางคนจะมีความลำเอียงในการตอบแบบสอบถาม เนื่องจากได้มีการตอบแบบสอบบ่อยหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับแบบสอบถามที่ไม่ดีมาก่อนจึงทำให้ไม่อยากตอบ

5. เป็นการเก็บข้อมูลที่ไม่ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเหมือนกับการสัมภาษณ์ซึ่งผู้ถาม และผู้ตอบจะต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบกัน

6. แบบสอบถามใช้ได้เฉพาะผู้ที่สามารถอ่านหนังสือออกเท่านั้น

7. แบบสอบถามที่ได้รับคืนมา ผู้วิเคราะห์จะไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้ตอบแบบสอบถามนั้น

8. หากผู้ตอบแบบสอบถามบางคนไม่เห็นความสำคัญ ก็อาจจะเลือกที่ไม่ทำแบบสอบถามนั้นเลย โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ

ข้อพิจารณาในการเขียนแบบสอบถาม

ในการเขียนแบบสอบถามจะมีองค์ประกอบที่จะต้องพิจารณา 4 ประเด็น คือ

  • ชนิดของคำถาม
  • รูปแบบของคำถาม
  • เนื้อหาของคำถาม
  • การจัดลำดับของคำถาม

คำถามในแบบสอบถามในลักษณะทั่วไป ส่วนใหญ่อาจแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง คือ คำถามปลายปิดกับคำถามปลายเปิด (Open and closed end question) คำถามปลายปิด คือ คำถามที่ผู้ถามที่ได้ร่างคำถามไว้ก่อนแล้วให้ผู้ตอบคำถาม ต้องตอบตามตัวเลือกที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น ซึ่งผู้ตอบคำถามจะมีอิสระในการเลือกตอบได้น้อย และคำถามปลายเปิด ที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบ ได้แสดงความเห็นอย่างอิสระ คำถามทั้งสองอย่างนี้จะใช้ควบคู่กัน ส่วนใหญ่การใช้คำถามปลายปิดก่อน แล้วตามเก็บประเด็นความรู้สึกด้วยคำถามปลายเปิด ไว้ท้ายของแบบสอบถาม

ข้อดีของแบบสอบถามปลายเปิด

1. ผู้วิจัยต้องการทราบความคิดเห็นของผู้ตอบอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องที่ซับซ้อน ไม่สามารถร่างคำถามให้ตอบเป็นข้อย่อยๆ ได้

2. สามารถช่วยผู้วิจัยได้ในบางส่วน หากความรู้ในเรื่องนั้นๆของผู้วิจัยมีจำกัด

3. หากยังมีข้อความที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือยังไม่ได้ตอบ ผู้ตอบจะสามารถตอบมาได้ครบทุกข้อของแบบสอบถาม

4. จะสามารถช่วยให้ได้คำตอบที่มีรายละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึก และแรงจูงใจ

5. ถ้าในส่วนของคำถามกำหนดข้อคำตอบไว้น้อยมาก ซึ่งผู้ตอบไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นตัวเองเพิ่มเติม ผู้ตอบคำถามจะสามารถเพิ่มเติมคำตอบตามที่ต้องการได้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น

ข้อเสียของแบบสอบถามปลายเปิด

1. การเปิดโอกาสให้ผู้ตอบคำถาม สามารถตอบได้อย่างอิสระเสรี อาจทำให้คำตอบไม่ตรงกับความต้องการ ของเรื่องที่ต้องการวิจัยได้ หรือมีส่วนที่ตรงกับคำถามน้อย เพราะผู้ตอบไม่เข้าใจคำถามหรือตอบนอกเรื่องที่ต้องการวิจัย

2. อาจจะทำให้ได้คำตอบที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคำถาม

3. มีความลำบากในการรวบรวม และวิเคราะห์เนื้อหา เพราะจะต้องนำข้อมูลที่ได้มาเพื่อแยกประเภท อาจจะทำให้เสียเวลาซึ่งแต่ละคนจะตอบตามความรู้สึก ไม่มีกรอบหรือขอบเขต

4. ผู้ที่จะต้องนำข้อมูลมาแยกประเภทจะต้องมีความชำนาญ มีการอบรมมาก่อน เพราะอาจจะจับกลุ่มของคำตอบไม่ถูกซึ่งทำให้ความหมายของคำตอบจะเปลี่ยนแปลงไป

ข้อดีของแบบสอบถามปลายปิด

1. โดยคำถามนั้นได้กำหนดคำตอบไว้แบบเดียวกัน เป็นมาตรฐาน จึงทำให้ได้คำตอบที่มีลักษณะเป็นมาตรฐานเดียวกัน

2. มีความสะดวกหรือง่ายต่อการในการรวบรวมเก็บข้อมูล

3. มีความรวดเร็ว และประหยัดเวลา

4. มีความสะดวกในการวิเคราะห์

5. ทำให้ได้ข้อมูลครบถ้วนรายละเอียดไม่ตกหล่น

6. ได้คำตอบตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

7.สามารถใช้ได้ดีกับคำถามที่มีความไม่ซับซ้อน หรือที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง

ข้อเสียของแบบสอบถามปลายปิด

1. ผู้ตอบไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

2. อาจจะทำให้การวิจัยไม่ได้ข้อเท็จจริงครบ เพราะผู้วิจัยได้ตั้งแนวคำตอบไว้ไม่ครอบคลุม

3. หากข้อคำถามมีความไม่ชัดเจน ผู้ตอบอาจตีความหมายต่างจากแบบคำถาม ซึ่งคำตอบที่ออกมาจะทำให้มีข้อผิดพลาดได้

หลักการเขียนแบบสอบถามโดยทั่วไป

1. ผู้วิจัยจะต้องมีจุดมุ่งหมายที่จำเพาะ และชัดเจนว่าต้องการสอบถามในเรื่องอะไรบ้าง

2. ผู้วิจัยต้องรู้ลักษณะของข้อมูลที่จะได้จากแบบสอบถาม ว่าจะได้ข้อมูลประเภทได้บ้างเป็นข้อมูลเชิงปริมาณหรือ คุณภาพ ตลอดจนกลยุทธ์ที่จะนำข้อมูลมาใช้ได้

3. มีการวางแผนการสร้างแบบสอบถาม และค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ จากแหล่งที่เกี่ยวข้อง

4. ทำการตรวจสอบข้อมูลว่าสามารถนำไปใช้จริงได้หรือไม่ และจัดลำดับข้อคำถามให้มีความต่อเนื่องเกี่ยวข้องกันก่อนมีการนำไปใช้เก็บข้อมูล

5. ควรศึกษาก่อนว่าผู้ที่จะตอบแบบสอบถามเป็นใคร มีความสามารถ และความตั้งใจที่จะตอบแบบสอบถามหรือไม่